การใช้ Fibonacci Retracement เทรด Forex

การลากเส้น Fibonacci Retracement บนกราฟ

นักเทรดเดอร์มือใหม่ส่วนใหญ่จะมีปัญหาในการหาจุดเข้าเทรด Forex บางคนยิ่งศึกษามากยิ่งรู้สึกกลัวจุดเข้าที่ตัวเองมองเห็น ยิ่งไปฟังคนนั้นพูดอย่าง คนนี้พูดอีกอย่าง ยิ่งทำให้ขาดความมั่นใจในความรู้ที่ตัวเองมี วันนี้ผมจะแนะนำเครื่องตัวหนึ่งที่มีมาพร้อมใน MT4 และ MT5 อยู่แล้ว นั่นคือ Fibonacci Retracement นั่นเอง

Fibonacci Retracement บอกอะไรคุณได้บ้างล่ะ

1. บอกจุดเข้า Buy หรือ Sell
2. บอกจุด Take Profit (TP)
3. บอกจุด Stop Loss (SL)

ถ้า 3 อย่างนี้เพียงพอต่อการตัดสินใจเทรดของคุณแล้ว เรามาดูกันต่อว่า Fibonacci Retracement คืออะไร

Fibonacci ถูกค้นพบโดยนักคณิตศาสตร์ชาวอิตาลี Leonardo Pisano Bigollo หรือรู้จักในอีกชื่อว่า เลโอนาร์โด ฟีโบนัชชี (Leonardo Fibonacci) มักถูกเรียกชื่อสั้นๆ ว่า ฟีโบนัชชี (Fibonacci) ซึ่งเขาได้ค้นพบความลับของธรรมชาติจากการสังเกต และศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น รูปแบบของฟ้าแลบ รูปแบบของเปลือกหอยทาก รูปแบบของการแตกกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ หรือรูปแบบการเรียงตัวของเมล็ดบนดอกทานตะวัน เป็นต้น ในบทความนี้จะไม่ลงรายละเอียดให้ยืดยาว ใครอยากรู้ที่มาที่ไปอย่างละเอียดให้ค้นหาเพิ่มเติมกันต่อเองนะครับ

วิธีใช้งาน Fibonacci Retracement และการตั้งค่าบน MT4/MT5

สามารถหาเครื่องมือนี้ใน MetaTrader ได้ 2 ทาง

Fibonacci Retracement Forex Line Studies

  1. จากเมน Insert —> Fibonacci—> Retracement
  2. จาก Toolbars ในหมวด Line Studies

การตีเส้น Fibonacci Retracement บนกราฟ MetaTrader

การลากเส้น Fibonacci Retracement บนกราฟ

หลังจากเลือกเครื่องมือแล้ว ให้เลือกจุดที่จะวางเส้น Fibonacci Retracement ลงบนกราฟ หลัก ๆ จะมี 2 แบบคือลากจากบนลงล่าง และลากจากล่างขึ้นไปด้านบน โดยพิจารณาการใช้งานดังนี้

กรณีที่เราคิดว่ากราฟจะขึ้นต่อ :- หลังจากที่กราฟขึ้นไปทำจุดสูงสุดในกรอบเวลาใดเวลาหนึ่งแล้วกราฟย่อตัวลงมา เราจะตีเส้นเพื่อหาแนวรับและหาจุดเข้าเปิด Position Long (Buy) โดยเราจะใช้จุดสูงสุดของกราฟ (ในกรอบที่เราเลือกเล่น) เป็นจุดที่ 1 และใช้จุดต่ำสุดของกราฟเป็นจุดที่ 2 จะได้ดังภาพด้านบน ซึ่งโดยปกติแล้ว ถ้ากราฟจะขึ้นไปต่อ กราฟจะย่อลงมาพักตัวตามแนว 61.8, 50.0 และ 38.2 ตามลำดับ ขึ้นอยู่กับแรงข่าว หรือแรงสวิงของกราฟในช่วงนั้นว่าจะถึงเส้นไหน การเลือกเข้าเล่นที่จุดไหนนั้นเป็นจุดสำคัญพอสมควร เนื่องจากต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบ เช่นช่วงเวลาที่เทรด ถ้าไม่ใช่ช่วงเวลาข่าวกราฟอาจจะสวิงในกรอบแคบ ๆ เราอาจจะใช้ 61.8 หรือ 50.0 เป็นแนวรับในการเข้าซื้อ แต่หากเป็นใกล้เวลาข่าว อาจจะพิจารณาเลือกเล่นในแนว 38.2 หรือเลื่อนไปตีเส้นใน TF ที่ใหญ่ขึ้น เพื่อหาแนวรับที่เหมาะสมแทน

กรณีที่เราคิดว่ากราฟจะลงต่อ :- หลังจากที่กราฟเทลงมาหนักๆ แล้วมีแรงซื้อทำให้กราฟสวิงขึ้นแรง ๆ ถ้าเรามองว่ากราฟนั้นจะลงต่อให้เราตีเส้นจากจุดต่ำสุดของกราฟ ไปหาจุดสูงสุดก่อนที่กราฟจะเทลงมา ดังภาพด้านล่าง เพื่อหาจุดเปิด Position Short (Sell) ซึ่งโดยปกติ ถ้ากราฟจะลงต่อหลังจากที่เทลงมาอย่างมาก กราฟจะพยายามสวิ่งกลับไปหาเส้น 61.8, 50.0 และ 38.2 ตามลำดับ ขึ้นอยู่กับแรงซื้อขายช่วงเวลานั้นว่านักลงทุนที่กำลังเทรดอยู่มีมุมมองว่ากราฟจะไปในทิศทางใด ซึ่งปกติแล้วหากกราฟจะลงไปต่อ แนวต้านสำหรับ Sell จะอยู่ที่เส้น 61.8 และเส้น 50.0 หรืออาจจะถึง 38.2 ก็เป็นได้

การลากเส้น Fibonacci Retracement เพื่อหาจุดเข้าเทรด Forex

หลักการจำง่าย ๆ ในการตีเส้น Fibonacci คือ

ถ้าเล่นเทรนขึ้นให้กำหนดจุดที่ 1 อยู่ด้านบน

ถ้าเล่นเทรนลงให้กำหนดจุดที่ 1 อยู่ด้านล่าง

จากภาพทั้งสอง ได้ถ่ายทอดมุมมองออกมาเป็น 2 ทางในกราฟจังหว่ะเดียวกัน การเลือกจุดเข้าที่เหมาะสมกับสถานการณ์ จะเป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงในการเทรดของคุณ การตีเส้นเผื่อไว้ทั้ง 2 กรณี เป็นอีกแนวทางหนึ่งเพื่อให้คุณเตรียมตัวรับมือกับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เมื่อได้แนวเส้นสำหรับเข้าเทรดแล้ว ต่อไปจะเป็นการกำหนดเป้าหมายสำหรับปิด Position

ถ้ากราฟสวิงไปแค่ 61.8 เป้าหมายสำหรับการ Take Profit (TP) จะอยู่ประมาณแนวเส้น 161.8
ถ้ากราฟสวิงไปถึง 50.0 เป้าหมายสำหรับการ Take Profit (TP) จะอยู่ประมาณแนวเส้น 127.0
ถ้ากราฟสวิงไปถึง 38.2 เป้าหมายสำหรับการ Take Profit (TP) จะอยู่ประมาณแนวเส้น 100.0

การเลือกเข้าเล่นทุกแนวเส้น ไม่ใช่วิธีการที่ดีนัก แต่ก็เป็นการไม่เสียโอกาส ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการจัดการของแต่ละคน แต่สำหรับผมแล้ว ผมจะเลือกเล่นในจุดที่คิดว่าปลอดภัยที่สุดเท่านั้น ถึงจุดนี้บางท่านจะมีคำถามว่าจุดปลอดภัยที่สุดคือตรงไหน? ส่วนนี้ต้องใช้ประสบการณ์ในการเทรดมาช่วยด้วยพอสมควร ปกติแล้วผมจะศึกษาแรงสวิงของคู่เงินที่เล่นประกอบด้วย ว่าแรงสวิงของคู่เงินนั้นบวกกับข่าวที่มีในวันนั้นสามารถพากราฟวิ่งได้ที่ระดับความแรงประมาณกี่จุด จากนั้นผมจะวัดช่วงของเส้น Fibo เพื่อหาความน่าจะเป็นว่ากราฟจะวิ่งไปได้ถึงแนวเส้นไหนได้บ้าง เพื่อกำหนดจุดเข้าเทรด

สำหรับจุด Stop Loss (SL) นั้น ส่วนใหญ่ผมจะใช้แนวเส้น Fibonacci เส้น 38.2 เป็นแนวพิจารณาว่ากราฟวิ่งมาผิดทางหรือไม่ เพราะแนวเส้นนี้เป็นจุดที่คิดว่ากราฟมาได้ยากสุด โดยปกติแล้วจะสวิงมาชนแล้วก็กลับตัวเลย แต่ถ้ากราฟชนแล้วยังกลับมายืนอยู่เกินแนวเส้นนี้ ผมจะพิจารณาปิดไปก่อน

มันอาจจะไม่ใช่วิธีที่แม่นยำที่สุดสำหรับผม แต่มันก็เป็นระบบที่ช่วยลดความเสี่ยง และทำกำไรให้ได้มากกว่าขาดทุน ยังไงก็ลองเอาไปฝึกใช้ดูนะครับ ใช้เครื่องมือนี้บวกกับความรู้และประสบการณ์ที่มี จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเทรด Forex ของคุณขึ้นแน่นอน